สาวประเภทสอง ถูกให้ออกจากงาน หลังทดลองงานครบ 4 เดือน ฝ่ายบุคคลแจ้งว่าไม่ผ่านการทดลองงานโดยไม่ให้เหตุผล ก่อนรู้สาเหตุภายหลังว่า หัวหน้าไม่ชอบ “LGBT”
วันที่ 18 เม.ย. 68 คุณ ชัชชัย ทองดีเจริญ (โย) ผู้ร้องทุกข์ ออกมาเล่าเรื่องราวผ่านรายการ “ถกไม่เถียง” ทางช่อง 7HD กด 35 ดำเนินรายการโดย กาย สวิตต์ ลีละพงศ์วัฒนา ว่า ตนสมัครงานปกติเพราะเป็นโรงงานแถวบ้าน ทดลองงาน 4 เดือน ภายใน 4 เดือน ห้ามขาด ลา มาสาย แต่ตนยอมรับว่าเคยทำผิดกฎของบริษัทไปตอกบัตรให้เพื่อนร่วมงาน
หลังจากนั้นตนก็ไปสมัครใหม่ และปฏิญาณตนเลยว่าจะไม่ทำผิดกฎระเบียบอีก ถ้าหัวหน้าบอกว่าเราทำงานไม่ดีหรืออู้งานมันเป็นไปไม่ได้ ลักษณะการทำงานตนก็ทำได้ทุกอย่างไม่แพ้ผู้ชาย ประเด็นอยู่ที่ตนกำลังจะผ่านโปร HR เรียกตนไปคุย และบอกว่าไม่ผ่านโปร ส่วนเหตุผลให้ไปถามหัวหน้า โดย 4 เดือนที่ผ่านมาตนไม่เคยทำผิดกฎอะไรเลย เพื่อนร่วมงานก็บอกว่าตนทำงานดี ทำงานเก่ง ตนก็สงสัยว่าทำไมถึงไม่ผ่านงาน เพราะตนตั้งใจทำงานมาก
หลังจากนั้นตนก็ไปถามหัวหน้างาน เขาบอกว่า หัวหน้าผู้ชายที่คุมงานเขาไม่ชอบสาวประเภทสอง ตนก็ถามว่าทำไมเขาถึงไม่ชอบ เขาให้เหตุผลว่า ที่ไม่ชอบเพราะตนเป็นกะเทยแรงสู้งานเท่าผู้ชายไม่ได้ เขาอยากได้พนักงานที่เป็นผู้ชาย หลังจากตนออกเขาก็บอกว่าจะไม่รับพนักงานผู้หญิงหรือสาวประเภทสองเข้าแผนกนี้อีก ทั้ง ๆ ที่พี่สาวตนก็เป็นผู้หญิงทำงานได้ปกติ ไม่มีปัญหาอะไร
ส่วนตัวไม่เคยมีปัญหากับใคร กับเพื่อนร่วมงานก็รักกันดี ถ้าตนอู้งานก็อยากให้เปิดกล้องดูเลยว่าตนอู้งานอย่างไร เพราะตนอยากได้งานนี้จริง ๆ หลังจากนั้นเขาก็เรียกตนไปเซ็นใบลาออก พร้อมให้เหตุผลว่าถ้าไม่เซ็นจะกลายเป็นตนโดนไล่ออก และประวัติการทำงานจะไม่ดีไปสมัครงานที่อื่นยาก หลังจากเซ็นตนก็ไปแจ้งความแต่ตำรวจทำอะไรไม่ได้ ก่อนแนะนำให้ไปแจ้งกรมแรงงาน
ด้าน โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย ให้ความเห็นด้านกฎหมายว่า ไม่ว่าคุณจะมีเพศสภาพอะไรก็ตามเราเท่ากันหมด ในขณะเดียวกันกฎหมายแรงงานก็ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ สิ่งที่ผิดปกติคือคุณโยเคยออกจากงานแต่พอไปสมัครใหม่ก็ยังรับ ซึ่งการทดลองงานไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน แต่ถ้าเขาให้ดุลพินิจที่ไม่เป็นธรรมเป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง ทางออกที่ดี คือรอแรงงานจังหวัดไกล่เกลี่ย
สุ เพื่อนร่วมงานของโย เล่าว่า ตนทำงานก่อนคุณโย ตนมองว่าโยไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะโยไม่ได้ทำอะไรผิด ทุกคนในแผนกยังคิดว่ายังไงโยก็ผ่านงาน เพราะปรับปรุงตัวเองดีขึ้น และขยันมาก ส่วนเหตุผลที่หัวหน้าไม่ชอบตนก็ตกใจว่ามันจริงเหรอ ทำไมไม่วัดกันที่การทำงาน เพราะเราทำงานกันเป็นทีมและมีเป้าหมายในการทำงานแต่ละวัน ตนยืนยันว่าโยทำงานดีประพฤติดี และขยัน
ด้าน พัฒนชาต ชุมทอง ผู้อำนวยการกองคุ้มครองแรงงาน จังหวัดสมุทรปราการ ให้ความเห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดการเลิกจ้าง คือการที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานแต่ไม่จ่ายค่าจ้าง ไม่ว่าเพราะเหตุใด กรณีอ้างเหตุว่าลูกจ้างไม่ผ่านทดลองงานเพราะเหตุผลดังกล่าว การเลิกจ้างจะอ้างเหตุได้ คือ ลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดอาญา จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงาน ทำผิดซ้ำคำเตือน หรือละทิ้งหน้าที่ติดกัน 3 วัน เป็นต้น โดยที่นายจ้างอ้างมาข้างต้นไม่ใช่เหตุตามที่กฎหมายกำหนด
ลูกจ้างที่ทำงานครบ 120 วัน ขึ้นไป ลูกจ้างย่อมมีสิทธิได้รับเงินเยียวยา ถ้าไม่ทำผิดกฎข้างต้นที่ตนได้กล่าวไป และถ้าเป็นการเลิกจ้างโดยให้ลูกจ้างลาออกทันที ทางเจ้าหน้าที่กรมแรงงานจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่าใช่การถูกบังคับหรือไม่ โดยกรณีน้องโย 118 วัน กรณีชดเชยอาจจะได้ไม่เท่า 120 วัน ถ้าการเลิกจ้างไม่สมเหตุสมผล น้องโยมีสิทธิฟ้องศาลแรงงานเพื่อเรียกร้องการเลิกจ้างงานอย่างไม่เป็นธรรม
#ถกไม่เถียง #TERODigital #Ch7HDNews
———-
ติดตาม รายการ “ถกไม่เถียง” ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ” ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 17.30-18.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35
Facebook: https://www.facebook.com/TERODigital/
Twitter: https://twitter.com/TERO_Digital
YouTube: https://www.youtube.com/c/TERODIGITAL
TikTok: https://www.tiktok.com/@terodigital
Instagram: https://www.instagram.com/terodigital